วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ข้อแนะนำในการใช้สมุนไพร

การใช้สมุนไพรที่ถูกต้อง ควรปฏิบัติดังนี้

ใช้ให้ถูกต้น สมุนไพรมีชื่อพ้องหรือซ้ำกันมากและบางท้องถิ่นก็เรียกไม่เหมือนกัน จึงต้องรู้จักสมุนไพร และใช้ให้ถูกต้น

ใช้ให้ถูกส่วน ต้นสมุนไพรไม่ว่าจะเป็นราก ใบ ดอก เปลือก ผล เมล็ด จะมีฤทธิ์ไม่เท่ากัน บางทีผลแก่ ผลอ่อนก็มีฤทธิ์ต่างกันด้วย จะต้องรู้ว่าส่วนใดใช้เป็นยาได้
ใช้ให้ถูกขนาด สมุนไพรถ้าใช้น้อยไป ก็รักษาไม่ได้ผล แต่ถ้ามากไปก็อาจเป็นอันตราย หรือเกิดพิษต่อร่างกายได้
ใช้ให้ถูกวิธี สมุนไพรบางชนิดต้องใช้สด บางชนิดต้องปนกับเหล้า บางชนิดใช้ต้มจะต้องรู้วิธีใช้ให้ถูกต้อง
ใช้ให้ถูกกับโรค เช่น ท้องผูกต้องใช้ยาระบาย ถ้าใช้ยาที่มีฤทธิ์ผาดสมานจะทำให้ท้องผูกยิ่งขึ้น
อาการแพ้ที่เกิดจากสมุนไพร สมุนไพรมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับยาทั่วไป คือมีทั้งคุณและโทษ บางคนใช้แล้วเกิดอาการแพ้ได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อยเพราะสมุนไพรมิใช่สารเคมีชนิดเดียวเช่นยาแผนปัจจุบัน ฤทธิ์จึงไม่รุนแรง (ยกเว้นพวกพืชพิษบางชนิด) แต่ถ้าเกิดอาการแพ้ขึ้นควรหยุดยาเสียก่อน ถ้าหยุดแล้วอาการหายไป อาจทดลองใช้ยาอีกครั้งโดยระมัดระวัง ถ้าอาการเช่นเดิมเกิดขึ้นอีกแสดงว่าเป็นพิษของยาสมุนไพรแน่ ควรหยุดยาและเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น หรือถ้าอาการแพ้รุนแรงควรไปรับการรักษาที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาล


อาการที่เกิดจากการแพ้ยาสมุนไพร มีดังนี้
ผื่นขึ้นตามผิวหนังอาจเป็นตุ่มเล็กๆ ตุ่มโต ๆ เป็นปื้นหรือเป็นเม็ดแบนคล้ายลมพิษ อาจบวมที่ตา (ตาปิด) หรือริมฝีปาก (ปากเจ่อ) หรือมีเพียงดวงสีแดงที่ผิวหนัง
เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน (หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง) ถ้ามีอยู่ก่อนกินยาอาจเป็นเพราะโรค
หูอื้อ ตามัว ชาที่ลิ้น ชาที่ผิวหนัง
ประสาทความรู้สึกทำงานไวเกินปกติ เช่นเพียงแตะผิวหนังก็รู้สึกเจ็บ ลูบผมก็แสบหนังศีรษะ ฯลฯ
ใจสั่น ใจเต้น หรือรู้สึกวูบวาบคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น และเป็นบ่อยๆ
ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลืองและเมื่อเขย่าจะเกิดฟองสีเหลือง (เป็นอาการของดีซ่าน) อาการนี้แสดงถึงอันตรายร้ายแรงต้องรีบไปหาแพทย์ อาการเจ็บป่วยและโรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพรหรือซื้อยารับประทานด้วยตนเอง
หากผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง โรคเรื้อรัง หรือโรคที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่ารักษาด้วยสมุนไพรได้ เช่น งูพิษกัด สุนัขบ้ากัด บาดทะยัก กระดูกหัก มะเร็ง วัณโรค กามโรค ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเรื้อน ดีซ่าน หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดบวม (ปอดอักเสบ) อาการบวม ไทฟอยด์ โรคตาทุกชนิด ไม่ควรใช้สมุนไพร
ถ้าผู้ป่วยมีอาการโรค/อาการเจ็บป่วยที่รุนแรง ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ไม่ควรรักษาด้วยการซื้อยารับประทานเอง หรือใช้สมุนไพร อาการที่รุนแรงมีดังนี้

ไข้สูง (ตัวร้อนจัด) ตาแดง ปวดเมื่อยมาก ซึม บางทีพูดเพ้อ (อาจเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือไข้ป่าชนิดขึ้นสมอง)
ไข้สูงและดีซ่าน (ตัวเหลือง) อ่อนเพลียมาก อาจเจ็บในแถวชายโครง (อาจเป็นโรคตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ฯลฯ)
ปวดแถวสะดือ เวลาเอามืดกดเจ็บปวดมากขึ้น หน้าท้องแข็ง อาจท้องผูกและมีไข้เล็กน้อยหรือมาก (อาจเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบอย่างแรงหรือลำไส้ส่วนอื่นอักเสบ)
เจ็บแปลบในท้องคล้ายมีอะไรฉีกขาด ปวดท้องรุนแรงมาก ท้องแข็ง อาจท้องผูก และมีไข้เล็กน้อยหรือมาก (อาจเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบอย่างแรงหรือลำไส้ส่วนอื่นอักเสบ)
อาเจียนเป็นโลหิตหรือไอเป็นโลหิต (อาจเป็นโรคร้ายแรงของกระเพาะอาหารหรือปอด) ต้องให้คนไข้นอนพักนิ่งๆ ก่อน ถ้าแพทย์อยู่ใกล้ควรเชิญมาตรวจที่บ้าน ถ้าจำเป็นต้องพาไปหาแพทย์ ควรรอให้เลือดหยุดเสียก่อน และควรพาไปโดยมีการกระเทือนกระแทกน้อยที่สุด
ท้องเดินอย่างแรง อุจจาระเป็นน้ำ บางทีมีลักษณะคล้ายน้ำซาวข้าว บางทีถ่ายพุ่งถ่ายติดต่อกันอย่างรวดเร็ว คนไข้อ่อนเพลียมาก ตาลึก หนังแห้ง (อาจเป็นอหิวาตกโรค) ต้องพาไปหาแพทย์โดยด่วน ถ้าไปไม่ไหวต้องแจ้งแพทย์หรืออนามัยที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว
ถ่ายอุจจาระเป็นมูกและเลือด บางทีเกือบไม่มีเนื้ออุจจาระเลย ถ่ายบ่อยมาก อาจจะตั้งสิบครั้งในหนึ่งชั่วโมง คนไข้เพลียมาก (อาจเป็นโรคบิดอย่างรุนแรง)
สำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุไม่เกินสิบสองปีมีอาการไข้สูง ไอมาก หายใจมีเสียผิดปกติ คล้ายๆ กับอะไรติดอยู่ในคอ บางทีมีอาการหน้าเขียวด้วย (อาจเป็นโรคคอตีบ) ต้องรีบพาไปหาแพทย์โดยด่วนที่สุด
อาการตกเลือดเป็นเลือดสดๆ จากทางไหนก็ตามโดยเฉพาะทางช่องคลอดต้องพาไปหาแพทย์โดยเร็วที่สุด
ความหมายของคำที่ควรทราบเพื่อการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง

ใบเพสลาด หมายถึงใบไม้ที่จวนแก่
ทั้งห้า หมายถึงส่วนของราก ต้น ผล ใบ ดอก
เหล้า หมายถึงเหล้าโรง (28 ดีกรี)
แอลกอฮอล์ หมายถึงแอลกอฮอล์ชนิดสีขาวสำหรับผสมยา ห้ามใช้แอกอฮอล์ชนิดจุกไฟ
น้ำปูนใส หมายถึงน้ำยาที่ทำขึ้นโดยการนำปูนที่รับประทานกับหมากมาละลายน้ำสะอาดตั้งทิ้งไว้ แล้วรินน้ำใสมาใช้
ต้มเอาน้ำดื่ม หมายถึงต้มสมุนไพรด้วยการใส่น้ำพอประมาณ หรือสามเท่าของปริมาณที่ต้องการใช้ ต้มพอเดือดอ่อนๆ ให้เหลือ 1 ส่วนจาก 3 ส่วนข้างต้น รินเอาน้ำดื่มตามขนาด
ชงเอาน้ำดื่ม หมายถึงใส่น้ำเดือดหรือน้ำร้อนจัดลงบนสมุนไพรที่อยู่ในภาชนะปิดฝาทิ้งไว้สักครู่จึงใช้ดื่ม
1 กำมือ มีปริมาณเท่ากับสี่หยิบมือ หรือหมายความถึงปริมาณของสมุนไพรที่ได้จากการใช้มือเพียงข้างเดียวกำโดยให้ปลายนิ้วจรดอุ้งมือโหย่งๆ
1 กอบมือ มีปริมาณเท่าสองฝ่ามือ หรือหมายความถึงปริมาณของสมุนไพรที่ได้จากการใช้มือทั้งสองข้างกอบเข้าหากันให้ส่วนของปลายนิ้วแตะกัน
1 ถ้วยแก้ว มีปริมาตรเท่ากับ 250 มิลลิลิตร
1 ถ้วยชา มีปริมาตรเท่ากับ 75 มิลลิลิตร
1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาตรเท่ากับ 15 มิลลิลิตร
1 ช้อนคาว มีปริมาตรเท่ากับ 8 มิลลิลิตร
1 ช้อนชา มีปริมาตรเท่ากับ 5 มิลลิลิตร

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พลู



พลู
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper betle L.
วงศ์ : Piperaceae
ชื่อสามัญ : Betel Vine
ลักษณะ : ไม้เถาเนื้อแข็ง รากฝอยออกบริเวณข้อใช้ยึดเกาะ ข้อโป่งนูน ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ กว้าง 8-12 ซม. ยาว 12-16 ซม. มีกลิ่นเฉพาะและมีรสเผ็ด ดอก ช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยขนาดเล็กอัดแน่นเป็นรูปทรงกระบอก แยกเพศ สีขาว ผล เป็นผลสด กลมเล็กเบียดอยู่บนแกน พลูมีหลายพันธุ์ เช่นพลูเหลือง พลูทองหลาง
ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทยใช้น้ำคั้นใบสดกินเป็นยาขับลมและทาแก้ลมพิษ โดยใช้ 3-4 ใบ ขยี้หรือตำให้ละเอียด ผสมเหล้าโรงเล็กน้อย ทาบริเวณที่เป็น ใบมีน้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วยสาร chavicol และ eugenol ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ชาเฉพาะที่ สามารถบรรเทาอาการคันและฆ่าเชื้อโรคบางชนิดด้วย จึงมีการพัฒนาตำรับยาขี้ผึ้งผสมสารสกัดใบพลูขึ้นเพื่อใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนังบางชนิด

บัวบก



บัวบก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Centella asiatica Urban
วงศ์ : Umbelliferae
ชื่อสามัญ : Asiatic Pennywort/Tiger Herbal
ชื่ออื่น : ผักแว่น ผักหนอก
ลักษณะ : ไม้ล้มลุกอายุหลายปี เลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ชอบที่ชื้นแฉะแตกรากฝอยตามข้อ ไหลที่แผ่ไปจะงอกใบจากข้อชูขึ้น 3-5 ใบ ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปไตเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 ซม. ขอบใบหยัก ก้านใบยาว ดอก ช่อ ออกที่ซอกใบ ขนาดเล็ก 2-3 ดอก กลีบดอกสีม่วง ผล เป็นผลแห้ง แตกได้
ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทยใช้น้ำต้มใบสดดื่มรักษาโรคปากเปื่อย ปากเหม็น เจ็บคอ ร้อนใน กระหายน้ำ ลดไข้ ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย ใช้เป็นยาภายนอกรักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยใช้ใบสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำละเอียดคั้นเอาน้ำทาบริเวณแผลบ่อย ๆ ใช้กากพอกด้วยก็ได้ แผลจะสนิทและและเกิดแผลเป็นชนิดนูน (keloid) น้อยลง สารที่ออกฤทธิ์ คือ กรด madecassic, กรด Asiatic และ asiaticoside ซึ่งช่วยสมานแผลและเร่งการสร้างเนื้อเยื่อ ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองและลดการอักเสบ มีรายงานการค้นพบฤทธิ์ฆ่าเชื้อราอันเป็นสาเหตุของโรคกลาก ปัจจุบันมีการพัฒนายาเตรียมชนิดครีม ใช้ทารักษาแผลอักเสบจากการผ่าตัดด้วย